คำสามัญ
|
คำสุภาพ
|
กล้วยไข่
|
กล้วยเปลือกบาง
|
พริกขี้หนู
|
พริกเม็ดเล็ก
|
ต้นตำแย
|
ต้นอเนกคุณ
|
ฟักทอง
|
ฟักเหลือง
|
ถั่วงอก
|
ถั่วเพาะ
|
ดอกขี้เหล็ก
|
ดอกเหล็ก
|
ผักกระเฉด
|
ผักรู้นอน
|
ผักตบ
|
ผักสามหาว
|
ผักบุ้ง
|
ผักทอดยอด
|
มะเขือยาว
|
มะเขืองาช้าง
|
ควาย
|
กระบือ
|
ปลาช่อน
|
ปลาหาง
|
ปลาสลิด
|
ปลาใบไม้
|
คำสุภาพในภาษาไทย
วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ตัวอย่างการเปรียบเทียบคำสามัญกับคำสุภาพ
ตัวอย่างการเปรียบเทียบคำสามัญกับคำสุภาพ
ประโยชน์ของการศึกษาคำสุภาพ
ยรรยง มีสติ (๒๕๔๔ : ๔๑๕) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการศึกษาเรื่องคำสุภาพว่าไว้มีประโยชน์ดังต่อไปนี้ คือ
๑. ทำให้ใช้ภาษาได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับชั้นของบุคคล
๒. เป็นเครื่องช่วยฝึกอบรมจิตใจให้ผู้ใช้และผู้ศึกษาเป็นคนประณีตในการใช้ภาษาและเป็นผลให้เป็นคนมีวิสัยรักสวยรักงามมีความสุขุมรอบคอบ
๓. การศึกษาคำสุภาพทำให้ผู้นั้นรู้วงศัพท์กว้างขวางลึกซึ้ง นับว่าเป็นผู้มีทักษะทางภาษา และได้ชื่อว่า “เป็นผู้รู้ภาษาไทยดี”
ลักษณะของคำสุภาพ
วิเชียร เกษประทุม (ม.ป.ป. : ๘๕) กล่าวถึงลักษณะของคำสุภาพไว้ว่า ถ้อยคำต่างๆที่เราพูดจากันอยู่โดยทั่วไปนั้น บางคำก็มิควรจะกราบบังคมทูล บางคำก็ควร ถ้าหากคำใดมิควรเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเสียให้เหมาะสมการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำต่าง ๆ ให้เหมาะสมนี่แหละเราเรียกว่า “คำสุภาพ” คำสุภาพเป็นส่วนหนึ่งของราชาศัพท์ ซึ่งมีลักษณะที่ควรสังเกตดังต่อไปนี้
๑. ไม่ควรใช้คำอุทานที่ไม่สุภาพ เช่น โว้ย เว้ย หรือคำสาบานที่หยาบคาย เช่น
ให้ตายห่า ให้ฉิบหาย หรือพูดกระชากเสียง เช่น เปล่า ไม่ใช่ เป็นต้น
๒. ไม่ควรใช้คำที่ถือว่าหยาบคาย คือ
ก. คำว่า “ไอ้” ควรใช้ “สิ่ง” แทน เช่น “ไอ้นี่” “ไอ้นั่น” ควรเป็นสิ่งนี้สิ่งนั้น หรือตัดคำว่า “ไอ้” ทิ้งเสียเลย เช่น ปลาไอ้บ้า เป็นปลาบ้า
ข. คำว่า “อี” ควรใช้คำว่า “นาง” เช่น อีเห็น เป็นนางเห็น อีเลิ้ง เป็นนางเลิ้ง
ค. คำว่า “ขี้” ควรใช้คำว่า “อุจจาระ” หรือ “คูถ” แทนหรือบางที่ตัดออกเสียเลยก็ได้ เช่น ดอกขี้เหล็ก เป็นดอกเหล็ก หรือเปลี่ยนเสียก็ได้ เช่น ขี้มูก เป็นน้ำมูก, ขนมขี้หนู เป็นขนมทราย
ง. คำว่า “เยี่ยว” ควรใช้คำว่า “ปัสสาวะ” หรือ “มูตร” แทน
๓. ไม่ควรใช้คำที่มีความหมายไปในทางที่หยาบ คำที่นิยมเปรียบเทียบกับของอันไม่บังควรก็เปลี่ยนเสีย เช่น ปลาช่อน ปลาสลิด สากกะเบือ เป็นต้น
๔. ไม่ควรใช้คำผวน หรือคำใดก็ตามเมื่อผวนหางเสียงหรือท้ายคำกลับมาไว้ข้างหน้าแล้ว คำนั้นจะกลับเป็นคำที่ไม่สุภาพทันที เช่น คุณหมอจ๋า ผวนเป็น คุณหมาจ๋อ ผักบุ้ง ผวนเป็น พุ่งบัก เป็นต้น คำพูดที่ผวนกลับแล้วฟังเป็นคำหยาบนี้ควรเว้นเสีย คำในภาษาไทยมีอยู่มากควรเปลี่ยนใช้ให้เหมาะสม เช่น ตากแดด ควรใช้ ผึ่งแดด ถั่วงอก ควรใช้ ถั่วเพาะ เป็นต้น
๖. เป็นคำยืมจากภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร
คำบาลี เช่น สุกร กุฏิ อาพาธ อุจจาระ เป็นต้น
คำสันสกฤต เช่น ศีรษะ ภรรยา ครรภ์ กรรม เป็นต้น
คำเขมร เช่น ถวาย เป็นต้น
ในเรื่อง “คำหยาบและคำสุภาพ” นั้น ม.ล.ปีย์ มาลากุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “การใช้ถ้อยคำและราชาศัพท์” ว่าเมื่อกล่าวถึง “ คำหยาบ” และ “คำสุภาพ” นั้น ความหมายที่แท้จริงของ “คำหยาบ” หาใช่หมายถึงเฉพาะคำโลนหรือคำที่ใช้ในการกล่าวผรุสวาทเท่านั้นไม่ ที่ถูกแล้วน่าจะเรียกว่า “คำสามัญ” และ “คำวิสามัญ” มากกว่า เช่น คำว่า มือ ตีน กิน เดิน นอน ก็ไม่น่าจะเป็นคำหยาบอะไร แต่นำคำเหล่านี้ไปใช้พูดกับคนที่อาวุโสกว่าคำเหล่านั้นถือว่าเป็น “คำหยาบ” ต้องเปลี่ยนใช้คำอื่น เช่น จะพูดว่า “ตีน” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “เท้า” เป็นต้น
(ปรีชา นันตาภิวัฒน์. ม.ป.ป. : ๖๗)
สาเหตุของการใช้คำสุภาพ
ปรีชา ทิชินพงศ์ (๒๕๒๓ : ๑๗๕-๑๗๖) ได้กล่าวถึงสาเหตุของการใช้คำสุภาพว่า ชาติไทยเป็นชาติที่ได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมที่ดีงามมาแต่โบราณกาล ไม่ว่ายุคใดสมัยใดเราไม่ละลาบละล้วงต่อบุคคลที่ควรเคารพ เช่น เมื่อจะกราบบังคมทูล พูดกับพระภิกษุ พูดกับผู้บังคับบัญชา บิดา มารดา ครูอาจารย์ หรือผู้มีวัยอาวุโสต่าง ๆ ก็ดี เราจะใช้ถ้อยคำแตกต่างกันออกไปตามสภาพทางสังคมของบุคคลนั้น ๆ เป็นสำคัญ ในสมัยก่อนนั้นมีการใช้คำราชาศัพท์เมื่อจะกราบบังคมทูลหรือกราบทูลต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการคลี่คลายของภาษา และความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมมากขึ้นจึงมีการปรับเปลี่ยนคำราชาศัพท์เป็นคำพูดที่นุ่มนวล ไพเราะ และสามารถใช้พูดกับบุคคลสามัญชนทั่วไปได้อย่างสุภาพ ชวนฟัง และการใช้ภาษาหรือคำพูดที่สุภาพนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงการได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีด้วย นอกจากคำสุภาพจะใช้เป็นภาษาพูดสำหรับบุคคลทั่วไปแล้วคำสุภาพยังใช้ในภาษาเขียนเพื่อให้เกิดความงดงามทางด้านวรรณศิลป์อีกด้วย
ความหมายของคำสุภาพ
คำสุภาพเป็นส่วนหนึ่งของคำราชาศัพท์ คือถ้อยคำสามัญที่เปลี่ยนแปลงให้สุภาพขึ้นอีก (บรรจบ พันธุเมธา. ๒๕๒๑ : ๑๓๗)
ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร (๒๕๕๐ : ๘๙) ได้ให้ความหมายของคำสุภาพไว้ว่า คำสุภาพ หมายถึงถ้อยคำอันเหมาะสม ได้ยินแล้วชวนฟังซึ่งสุภาพชนทั่วไปนิยมใช้พูดกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำราชาศัพท์แต่ไม่มีการกำหนดใช้มากมายหลายชนิดอย่างราชาศัพท์ที่ใช้แก่เจ้านาย วิธีการใช้ไม่ค่อยแปลกไปกว่าคำสามัญเท่าใดนัก
ลัลลนา ศิริเจริญ และสุมาลี นิมานุภาพ (๒๕๒๖ : ๕๙) กล่าวว่า ภาษาสุภาพ หมายถึง ถ้อยคำที่มีน้ำเสียงไม่กระด้างมีความหมายตรงไปตรงมาไม่กำกวมชวนให้เข้าใจไขว้เขว เป็นภาษาที่ใช้ในสุภาพชนทั่วไปที่อยู่ในระดับเดียวกัน ระดับต่ำกว่า (เช่นผู้ใหญ่พูดกับเด็ก) และผู้ที่มีอาวุโสมากกว่าด้วยวัยวุฒิ ชาติวุฒิ และคุณวุฒิ ตลอดขึ้นจนไปถึงพระภิกษุสงฆ์ ภาษาสุภาพนอกจากจะแสดงความสุภาพแล้ว บางคำใช้แสดงการคารวะ และบางคำก็ใช้แสดงความสุภาพและการแสดงการคารวะควบคู่กันไป ภาษาเขียนที่ดีจะใช้ภาษาสุภาพทั้งหมด เพราะปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นสื่อความเข้าใจกับผู้อ่านโดยทั่วไปไม่จำกัดในหมู่ผู้ฟังเช่นภาษาพูดเท่านั้น
อาจสรุปความหมายของคำสุภาพได้ว่า คำสุภาพ คือถ้อยคำที่มีความนุ่มนวล ไม่หยาบคาย และอ่อนโยน มีความหมายตรงไปตรงมา ใช้พูดกันโดยทั่วไป ภาษาสุภาพนั้นใช้แสดงถึงความสุภาพและบางคำใช้แสดงการคารวะ ในภาษาเขียนที่ดีจะใช้คำสุภาพทั้งหมด คำสุภาพถือเป็นส่วนหนึ่งของคำราชาศัพท์แต่มีวิธีการใช้ที่ง่ายกว่าคำราชาศัพท์เพราะเป็นคำที่ใช้พูดได้โดยทั่วไป
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)